วัดประตูป่า ตั้งอยู่เลขที่ ๙๕ หมู่ที่ ๔ ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดประตูป่า สร้างราวปีพุทธศักราช ๒๓๐๑ ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ กองทัพพม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองเหนือในเขตดินแดนล้านนา เจ้านายฝ่ายในเวียงนครหริภุญไชยหรือเวียงหละปูน(ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน) พระสงฆ์องค์เจ้าและชาวบ้าน ในเมืองหริภุญไชย ได้อพยพหลบภัยสงคราม มาอาศัยอยู่แถบบริเวณปากลำเหมืองไม้แดง ตั้งอยู่เหนือเวียงหละปูน ทั้งไพล่พลข้าราชการฝ่ายในเมืองหริภุญไชยได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น บริเวณที่วัดร้าง ในบริเวณเหนือเวียงหริภุญไชย
ด้วยประวัติศาสตร์นครหริภุญไชยนั้น เป็นเมืองประวัติศาสตร์เป็นนครรัฐที่เก่าแก่ที่สุดก่อนใครในภูมิภาค เป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานอารยะธรรมทุกด้านแก่อาณาจักรที่ก่อเกิดขึ้นในภายหลัง เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคแถบนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณวัดร้างที่เป็นที่ตั้งของวัดประตูป่าในปัจจุบันตลอดจนวัดร้างกู่ต่างๆซึ่งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ที่รายรอบชุมชนวัดประตูป่าเคยเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน
หลังจากนั้นเมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฟั่นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่ง ในเมืองลำพูน
หลังจากแล้วเสร็จจากการ แผ้วถางเมืองหละปูนที่รกร้าง ได้มีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวยองได้อาศัยในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้น้ำนอกเวียง ชาวยองบ้านป่าม่วงทั้งหลาย จึงเลือกเอาพื้นที่บริเวณพื้นที่วัดห่าง (วัดร้าง)ใกล้ปากลำเหมืองป่าไม้แดง เป็นที่อาศัย เพราะเป็นพื้นที่ติดน้ำ มีที่ราบสำหรับปลูกพืชและข้าวไร่ได้ มีพื้นที่กว้างขว้างเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน ชาวยองจึงช่วยกันแผ้วถางพื้นที่และบูรณะวัดห่างแห่งนี้ขึ้นมาใหม่และได้อาราธนาพระมหาเถระครูบาเหล็ก และพระสงฆ์จากเมืองยองป่าม่วงที่มาด้วยกัน โดยนิมนต์ให้ครูบาเหล็กเป็นเจ้าอารามแห่งนี้
จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกต้นมะม่วง จากเมล็ดของมะม่วงที่นำมาจากเมืองยองในคราวที่ได้อพยพมา นำไปปลูกไว้รอบบริเวณวัดและบริเวณเขตบ้านพื้นที่ที่ได้เข้าไปอยู่อาศัย ประมาณหลายร้อยต้นตามอาณาเขตที่อยู่ เพื่อเป็นหลักฐานไว้คู่หมู่บ้าน และเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่บ้านป่าม่วงเมืองยอง คนยองที่อพยพมาตั้งรกรากที่แห่งนี้ ส่วนมากเป็นครอบครัวที่มาจากบ้านป่าม่วง จึงได้นำชื่อบ้านเดิมมาใช้เรียกชื่อวัดและบ้านดั่งเช่นเดิม ประกอบกับต้นมะม่วงที่ปลูกไว้เติบโตขึ้นเกิดร่มเงาลำต้นสูงใหญ่ เกิดเป็นป่ามะม่วงขนาดใหญ่เหนือเวียงหริภุญไชย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านประตูป่าม่วงจุมหัวเวียงหริภุญไชย หรือป่าโหม่งโหลง (ป่าม่วงหลวง) มีมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองมากมาย หลายชนิดตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกขาน คือ มะม่วงคำ, มะม่วงขี้ยา, มะม่วงจี้ฮีต, มะม่วงม้า, มะม่วงตับเต่า, มะม่วงรอสอ, มะม่วงตอง, มะม่วงฝ้าย ปัจจุบันต้นมะม่วงอายุกว่า ๒๔๐ กว่าปี ยังมีให้เห็นเป็นหลักฐานในการตั้งถิ่นของคนยองบ้านป่าม่วงประตูป่า ปัจจุบันต้นมะม่วงเหลือประมาณ ๑๐ กว่าต้น บริเวณทิศเหนือของวัดตรงหน้าโรงเรียนวัดประตูป่า
วัดประตูป่าม่วงจุม หัวเวียงหริภุญไชย หลักฐานอ้างอิงจากเอกสารจารึกใบลาน ในหอธรรมวัดประตูป่า ในคัมภีร์ อัฏฐังคิกมัคค์ จารในปี จ.ศ.1222 (พ.ศ. 2403) กล่าวว่า "สิทธิภิกขุริกขิตตะ ปางอยู่วัดปตูป่าม่วงชุมหัวเมืองหริภุญไชย."เลขที่เอกสาร ลพ 06 010 031 09
พื้นที่บริเวณวัด
บรรยากาศร่มรื่นแวดล้อมด้วยกลุ่มอาคารเก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อมานานหลายช่วงชีวิตคน วัดประตูป่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๑ โดยเจ้านายฝ่ายในและชาวบ้าน ซึ่งอพยพหลบภัยพม่ามาอยู่บริเวณปากลำเหมืองไม้แดง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ นี้ และผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยอง (ในพื้นที่ของประเทศพม่าในปัจจุบัน) โดยการนำของครูบาเหล็ก พระเถระชาวยอง ประเทศพม่า
การเดินทางมาในครั้งนั้น ผู้คนหลากหลายอาชืพต่างเดินทางมาไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ช่างไม้ช่างแก้ว ช่างทำเครื่องเงินเครื่องโลหะต่างๆๆ ช่างฟ้อน ต่างนำเอาวิชาความรู้ในเชิงช่างติดตัวมาด้วย ส่งผลให้อาคารเก่าแก่ของ ในบริเวณวัดได้แสดงออกซึ่งฝีมือช่างชาวยองอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งที่โดดเด่นก็คือ" หอไตร (๑) " อาคารไม้หลังใหญ่ที่ยืนหยัดท้าแดดฝนมานาน อายุเกือบ ๒๐๐ ปีภายในจัดเก็บ คัมภีร์์โบราณ มากมายจน กรมศิลปากรต้องจัดเอา หอไตร และคัมภีร์ธรรม โบราณ เข้าเป็นเป็นรายการที่ต้องอนุรักษ์สืบไป
หมายเหตุ (๑) สร้างเมื่อปีจุลศักราช ๑๒๕๖ (พ.ศ. ๒๔๓๗) สมัยครูบาอริยะ (อายุ ๑๑๒ ปี เป็นหอธรรมสถาปัตยกรรมช่างคนยอง สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เสา ๒๔ ต้น ยกพื้นเป็น ๒ ชั้น หน้าบันแกะสลักด้วยไม้ ประดับแก้วอังวะลวดลายอ่อนซ้อย สวยงาม ฝาผนังไม้ด้านใน และลูกฟักด้านนอก เป็นลายทอง มีหีบธรรม ๙ หีบ บรรจุคัมภีร์ธรรมใบลานจารึกด้วยอักษรล้านนาล้วน เคยมีผู้สำรวจคัมภีร์ธรรมแล้ว ๓ ครั้ง หอไตรหลังเดิมมุงด้วยไม้เกร็ด ฐานก่อด้วยอิฐฉาบปูนขาวสูงประมาณ ๑ เมตร ตั้งอยู่ด้านหนือวิหาร คู่กับกุฏิใหญ่หลังเก่า ย้ายมาตั้งชิดกำแพงด้านใต้ ใกล้กับอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕
(ข้อมูล ได้จากธรรมสัพนิไสยการก ผูกที่ ๓ อักษรตัวเมือง เขียนไว้ว่า “ธรรมผูกนี้เขียนเสร็จ เมื่อเดือน ๘ เหนือออก ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๕๖ สมัยครูบาอริยะ ตรงกับวันปกเสาหอธรรมนั่นแล” ธรรมผูกนี้ ผู้เรียบเรียงพบคราวสำรวจคัมภีร์ธรรมกับพ่อหนานอ้าย แก้ววิจิตร และคณะ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ และสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพ่อหนานทา ภิญโญจิตร ซึ่งตั้งบ้านอยู่หัวขัวหน้าโรงเรียนบ้านประตูป่า ชาวบ้านเรียก ขัวพ่อหนานทา แม่บอกพ่อหนานทาว่า มีงานปอยหอธรรมขณะพ่อหนานทาอยู่ในท้อง)
(ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สำรวจโดย นายจอม นนทธรรม และคณะ ครั้งที่ ๒ เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๕ สำรวจโดย พระมหาถนอม ภิญโญจิตร พ่อหนานอ้ายและคณะ ครั้งที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สำรวจโดย พ่อหนานอินทร บ้านสันริมปิง และคณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการบันทึกลงในไมโครฟิลม์ ตลอดถึงจัดระบบสารบัญ เป็นหมวดหมู่ ได้มาตรฐาน )
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2464
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2301
ประวัติบ้านประตูป่า , หล่ายล้อง หมู่ที่ 4 ตำบลประตูป่า
เมืองยอง เป็นอำเภอหนึ่ง ในจำนวน 9 อำเภอของจังหวัดเชียงตุง ตั้งอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่า จังหวัดเชียงตุงประกอบด้วย 9 อำเภอ คือ เมืองเชียงตุง เมืองยาง เมืองขักเมืองปิง เมืองพยาก เมืองยอง เมืองสาด เมืองตุ่น และเมืองท่าขี้เหล็ก สำหรับเมืองยองอยู่ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยทางรถยนต์ประมาณ 100 กิโลเมตร ในอดีตเป็นหัวเมืองขึ้นกับแคว้นสิบสองปันนา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองยอง คือกลุ่มชนชาติไทลื้อจากสิบสองปันนา เมืองยองหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหิยังคะรัฐ ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำยอง ดังนั้นจึงเรียกไทยลื้อที่เข้ามาอยู่ในเมืองยองว่า ไทยยอง ดังนั้นชาวยองหรือคนยอง กับไทลื้อจึงเป็นชนชาติกลุ่มเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2347 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อที่มั่นแห่งสุดท้ายของพม่าในล้านนา คือ เมืองเชียงแสนถูกกองทัพของพระเจ้ากาวิละตีแตก
ทำให้สภาพบ้านเมืองในเวลานั้นรกร้างว่างเปล่า ร้างผู้คนหลังจากที่เชียงใหม่และล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลานานกว่า 200 ปี ( เมื่อปีพ.ศ. 2101-2347) พระเจ้ากาวิละจึงได้สร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมคนไทยกลุ่มต่างๆจากหลายท้องที่ให้เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย โดยโปรดให้พระยาอุปราชเชียงใหม่ (เจ้าน้อยธรรมลังกา) ยกทัพไปตีหัวเมืองต่างๆ ของอาณาจักรสิบสองปันนาโดยกองทัพจากเชียงใหม่ได้ยึดเอาเมืองยองเป็นที่มั่นในการรบพุ่งกับเมืองต่างๆ และสามารถยึดเอาเมืองเหล่านั้นเป็นเมืองขึ้น คือ เมืองยู้ เมืองลวง เมืองเลน เมืองเชียงขาง เมืองแล เมืองฮายเมืองท่าล้อ เมืองม้า เมืองมาง เป็นต้น
ครั้นในปี พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละจึงได้อพยพผู้คนจากเมืองยอง และหัวเมืองต่างๆ ให้เข้ามาบูรณะเมืองลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง และเชียงรายให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยุคนี้เรียกว่า ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง หลังจากที่บ้านเมืองในล้านนาได้รกร้างว่างเปล่าไปคราวสงครามกับพม่า ชาวไทยยองที่อพยพเข้ามาในครั้งนั้น ได้กระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน การตั้งถิ่นของผู้คนจากเมืองยองมักกระจุกตัวอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มเพื่อประโยชน์ในการเกษตร หมู่บ้านหรือชุมชนเหล่านี้ถือเป็นหมู่บ้านหลัก ต่อมาได้ขยายชุมชนกระจายไปตามรอบๆ ตามสภาพภูมิประเทศและความจำเป็นในการประกอบอาชีพเช่น ริมฝั่งแม่น้ำกวง แม่น้ำปิง และแม่น้ำทา มีหมู่บ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านวังไฮบ้านตอง บ้านหลุก บ้านหลิ่งห้า ปิงห่าง ประตูป่า ริมปิง บ้านฉางข้าวน้อย บ้านหวายบ้านแซม เป็นต้น
ชาวยองที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านประตูป่าเช่นเดียวกับชาวยองในหมู่บ้านอื่นๆ เป็นเวลาประมาณเกือบ 200 ปีมาแล้ว การจากเมืองยองในครั้งนั้น ชาวบ้านได้นำเอาผลมะม่วงมาเป็นเสบียงในระหว่างการเดินทางด้วย และได้นำเอาเมล็ดมะม่วงมาปลูกไว้บริเวณวัดประตูป่าและริมน้ำเหมืองไม้แดง ตลอดจนหน้าโรงเรียนบ้านประตูป่า สำหรับมะม่วงที่ปลูกก็ได้แก่ มะม่วงคำ , ขี้ยา , จี้ฮีต , ม้า , ตับเต่า , รอสอ , ตอง , ฝ้าย , ม่วงสามปี ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังคงเหลือประมาณ 7 ต้น และต่อมาในสมัย พระมหาประดิษฐ์ ปณฺฑิตธมฺโม เจ้าอาวาส และพ่อหลวงสมบูรณ์ สิติวรรณา ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับคณะศรัทธาวัดประตูป่า ได้ลงมือทำการปลูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 105 ต้น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2546 สำหรับมะม่วงที่ปลูกได้แก่ มะม่วงแก้ว สามปี ตลับนาค กุลาลืมตึก เป็นต้น
ชุมชนบ้านประตูป่า หรือชื่อปรากฏในเมืองยองว่า บ้านป่าม่วง นับว่าเป็นหมู่บ้านหลักที่สำคัญของชาวยองอีกแห่งหนึ่ง และยังประกอบด้วยหมู่บ้านอื่นที่อพยพเข้ามาพร้อมกัน เช่นบ้านหัวยาง บ้านบัว บ้านบาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ปรากฏชื่ออยู่ในเมืองยองในปัจจุบันเช่นกัน
ประวัติบ้านหนองกออ้อ หมู่ที่ 3 ตำบลประตูป่า
ชุมชนบ้านหนองกออ้อ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 3 (บ้านล่ามช้าง) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูนทิศเหนือติดกับบ้านล่ามช้าง ทิศตะวันออกติดลำน้ำปิงเก่า ทิศใต้ติดชุมชนบ้านท่ากว้าง ทิศตะวันตกติดชุมชนบ้านแม่ออกฮู มีครัวเรือนอยู่ 45 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 130 คน ภาษาที่ใช้พูดสื่อสารใช้ภาษายองจำนวน 115 คน ภาษาคำเมือง 15 คน ส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนลำไยและรับจ้าง
มูลเหตุ ชื่อชุมชนบ้านหนองกออ้อ เนื่องจากในอดีตทำเลแห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่มใช้เป็นที่ทำนาของคนในชุมชน มีหนองน้ำและสันดอนตามลำเหมืองเสน้ำและลำเหมืองฮ่องจา โดยอยู่ทิศฮูตะวันตกของหมู่บ้าน ระหว่างชุมชนบ้านหนองกออ้อและชุมชนบ้านแม่ออกฮู ในพื้นที่ตามลำเหมืองทั้ง 2 สายและสันดอนจะมีต้นอ้อขึ้นอยู่มากมาย อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนก็ยังได้นำต้นอ้อมาใช้ประโยชน์ คือนำเอามาสานเป็นฝาบ้าน สร้างเป็นที่อยู่อาศัย ดังนั้นคนในชุมชนจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเองตามสภาพแวดล้อมที่มีต้นอ้อขึ้นอยู่มากมายว่า “ชุมชนบ้านหนองกออ้อ” มาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ในส่วนของต้นอ้อก็ยังคงเหลือให้เห็นอยู่ตามแนวลำเหมืองเสน้ำ และลำเหมืองฮ่องจาหรือฮ่องเกาะกางที่ยังเป็นลำน้ำสำคัญในการทำเกษตรกรรมอยู่
ชุมชนบ้านหนองกออ้อ แต่เดิมมีอาณาเขตไปถึงกลางหมู่บ้านล่ามช้าง ปัจจุบันคือแถวบ้านแม่สุนา บ้านพ่อหลวงทา ปัญจบุรี (จากคำบอกเล่าของพ่อหนานอ้าย แก้ววิจิตรอายุ 79 ปี อดีตปู่อาจารย์หรือมัคนายกวัดประตูป่า) แต่เดิมในสมัยครูบาอริยะ (ตุ๊หลวงน้อย) เจ้าอาวาสวัดประตูป่าป่าม่วงจุมหัวเวียงหละปูน รูปที่ 4 และสมัยครูบาธรรมชัย เจ้าอาวาสรูปที่ 5 คนในชุมชนหนองกออ้อ และชุมชนบ้านแม่ออกฮู ได้มาเป็นศรัทธาวัดประตูป่าทั้งชุมชน ต่อมาวัดล่ามช้างโดยครูบาแก้ว ปัญโญ ท่านเจ้าอาวาส ได้เล็งเห็นว่าศรัทธาวัดล้ามช้างมีน้อย จึงได้มาขอศรัทธาในส่วนของชุมชนบ้านหนองกออ้อครึ่งหนึ่ง และชุมชนบ้านแม่ออกฮูไปเป็นศรัทธาวัดล่ามช้าง ประกอบกับระยะทางในการเดินทางไปทำบุญที่วัดล่ามช้างก็ใกล้กว่า และสะดวกขึ้น ศรัทธาในส่วนของชุมชนที่ตั้งอยู่หัวบ้านหนองกออ้อ ติดกับบ้านล่ามช้างแต่เดิมและชุมชนบ้านแม่ออกฮูก็เริ่มทยอยไปเป็นศรัทธาวัดล่ามช้าง ก็คงเหลือแต่ชุมชนบ้านหนองกออ้อหางบ้านที่ยังคงเป็นศรัทธาวัดประตูป่ามาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของชุมชนบ้านหนองกออ้อในอดีต จะเห็นได้ว่ามีตระกูลหลักที่เข้ามาตั้งรกราก
แต่เดิมมีอยู่ 3 ตระกูลคือ
1. ตระกูล สิติวรรณา
2. ตระกูล ธิทะโพธิ์
3. ตระกูล มโนวรรณา
โดยมีหลักฐานคือ มีหอปู่-ย่าประจำตระกูลอยู่ในชุมชน เมื่อถึงประเพณีปีใหม่เมือง คนในชุมชนก็จะนำเอาเครื่องสักการะ น้ำขมิ้นส้มป่อยมาคารวะบูชา (ปู๋จา) หอปู่-ย่าทุกปี และมีลูกหลานทั้ง 3 ตระกูลในปัจจุบันใช้นามสกุลนี้มากมาย
สันป่าตอง (สันมะตอง , สันไม้ตอง) เป็นสันดอน ตั้งอยู่กลางระหว่างชุมชนบ้านหนองกออ้อและบ้านแม่ออกฮู ทิศเหนือติดกับกู่อีปิ่น โดยได้รับการเล่าสืบต่อกันมาในสายลูกหลานของพ่ออุ้ยหนานจันทร์ตา แม่อุ้ยเขียว ธิทะโพธิ์ ว่าเดิมสันดอนแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นมากมายเช่นไม้ตอง ไม้กวาว ไม้ตาล ไม้เพ่ง แต่มีมากที่สุดคือ ไม้ตอง (ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ใบคล้ายใบต้นกวาว ลำต้นมีหนามคล้ายหนามต้นงิ้ว คนในชุมชนได้ใช้ปอมหนามมาทำเป็นปอมตกเบ็ดปัจจุบันต้นไม้ตองมีเหลือให้เห็นอยู่บ้างในบริเวณสันดอนที่เหลืออยู่) คนในชุมชนจึงได้เรียกสันดอนแห่งนี้ว่า “สันป่าตอง” หรือ “สันไม้ตอง” ประกอบกับพ่อหนานเฝือได้ไปสร้างบ้านอยู่กลางสันดอน และประกอบอาชีพตีมีดทองเหลืองสำหรับใช้โกนผม ดังนั้นบางคนก็เลยเรียกว่า“สันมีดตอง” ก็มี ต่อมามีการกร่อนเสียง เพราะคนในแถบชุมชนแห่งนี้พูดภาษายองเป็นส่วนมากจึงทำให้คนเรียก “สันป่าตอง สันไม้ตอง สันมีดตอง” กร่อนเป็น “สันมะตอง” จนถึงปัจจุบัน
ประวัติบ้านท่ากว้าง สันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า หมู่ที่ 5 ตำบลประตูป่า
ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านท่ากว้าง ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ทิศเหนือติดชุมชนบ้านหนองกออ้อ ทิศตะวันออกติดลำน้ำปิงเก่า ทิศใต้ติดกับชุมชนสันปู่ลี้ ศรีสุพรรณ ทิศตะวันตกติดสันลมจอย มีครัวเรือนที่เป็นศรัทธาวัดประตูป่าจำนวน 20 หลังคาเรือน มีจำนวนคนอาศัยอยู่ 59 คน ประกอบอาชีพทำสวน รับจ้าง เหมือนกับคนในชุมชนบ้านหนองกออ้อ
มูลเหตุที่ชื่อชุมชนบ้านท่ากว้าง สันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า (จากคำบอกเล่าของพ่อหนานอ้าย แก้ววิจิตร อายุ 79 ปี อดีตปู่อาจารย์วัดประตูป่า เกิดที่ชุมชนบ้านท่ากว้าง) เล่าว่าแต่เดิมลำน้ำปิงเก่าซึ่งอยู่ติดกับชุมชนด้านทิศตะวันออก
ในสมัยนั้นการข้ามลำน้ำปิงเก่ายังไม่มีการสร้างสะพาน ถ้าจะข้ามลำน้ำจะมีท่าลงข้าม และในแถบนี้จะมีท่าน้ำข้ามอยู่แห่งเดียว สำหรับเดินข้าม และใช้สำหรับจูงวัว ควายข้าม ประกอบกับคนในชุมชนบ้านหนองกออ้อ แม่ออกฮู สันปู่ลี้สันลมจอย ที่เป็นศรัทธาวัดประตูป่าจะต้องเดินทางไปทำบุญที่วัดและมาข้ามน้ำตรงที่แห่งนี้ พอมีคนมาเดินข้ามกันอยู่ตลอด จึงทำให้ท่าน้ำแห่งนี้กว้างขึ้น คนในชุมชนจึงได้เรียกชื่อชุมชนว่า“ชุมชนบ้านท่ากว้าง” ต่อมาในสมัยครูบาธรรมชัย เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ได้เล็งเห็นว่าเป็นการลำบากสำหรับศรัทธาวัดประตูป่า ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ทิศตะวันตกลำน้ำปิงเก่า ท่านจึงได้มาสร้างสะพานไม้ (เรียกต่อมาว่า “ขัวโย”สำหรับเดินข้ามลำน้ำตรงที่เป็นท่าน้ำเดิม คือ ท่ากว้างซึ่งปัจจุบันทิศตะวันออกลำน้ำ คือบริเวณหน้าบ้านพ่อมา แม่หอม ศรีสว่าง ทิศตะวันตกลำน้ำคือหน้าบ้าน พ่ออุ้ยผัด นันทะพงค์ และบ้านแม่จิ่นแก้ว ศรีธิพิงค์ โดยทิศตะวันออกลำน้ำเยื้องไปทางทิศเหนือ ก็จะพบชุมชนบ้านหนองมูล เยื้องไปทางทิศใต้เรียกว่าชุมชนบ้านเกาะทราย สำหรับใช้เป็นที่เลี้ยงวัว ควาย
สำหรับชื่อ สันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน แต่เดิมครูบาอริยะ(ตุ๊หลวงน้อย) เจ้าอาวาสวัดประตูป่าป่าม่วงจุมหัวเวียงหละปูน รูปที่ 4 เป็นคนบ้านสันปู่ลี้ (จากคำบอกเล่าของแม่อุ้ยนาง ธิทะโพธิ์ อายุ 96 ปี) ท่านครูบาเป็นผู้ที่สร้างความก้านกุ่งรุ่งเรืองให้กับวัดประตูป่าในด้านถาวรวัตถุ เช่น สร้างหอธรรม อุโบสถ วิหาร ตลอดจนธรรมใบลานที่มีอยู่จำนวนกว่า 1,000 ผูก บนหอธรรมก็จาร (เขียน) โดยครูบาอริยะเป็นส่วนมาก
แต่เดิมคนในชุมชนบ้านสันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า มีครัวเรือนติดไปถึงบ้านศรีสุพรรณ จะเป็นศรัทธาวัดประตูป่าทั้งหมด (จากคำบอกเล่าของท่านพระครูสถิตธรรมากรหรือตุ๊ลุงยืน อายุ 76 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่ารูปที่ 6 เกิดที่บ้านศรีสุพรรณร่องกาศ)
ราวปีพ.ศ. 2442 ครูบาผัดจากวัดประตูป่า ได้มาสร้างวัดศรีสุพรรณกับเจ้าแก้วมนุษย์ ณ ลำพูน ศรัทธาวัดประตูป่าในแถบชุมชนสันปู่ลี้ สันลมจอย ก็ได้ย้ายมาเป็นศรัทธาวัดศรีสุพรรณ คงเหลือแต่ชุมชนบ้านท่ากว้างหัวบ้านที่ยังคงเป็นศรัทธาวัดประตูป่ามาจนถึงปัจจุบัน
สันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า เป็นสันดอนที่อยู่กลางทุ่งนา เป็นทีสงบ มีลมพัดเย็นสบาย คนในชุมชนไปทำนา ถ้าอยากพักผ่อนก็จะหลบขึ้นไปบนสันดอนแห่งนี้ หรือใครมีเรื่องทุกข์ร้อน มีเรื่องกังวลใจ ก็จะหลบไปนอนหรือไปนั่งรับลมอยู่ที่สันดอนแห่งนี้ เพื่อให้จิตใจสงบต่อมาจึงเรียกสันดอนแห่งนี้ว่า สันปู่ลี้ สันลมจอย สันป่าฮกฟ้า มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อชุมชนของคนที่เป็นศรัทธาวัดประตูป่าป่าม่วงจุมหัวเวียงหละปูน จะยึดหลักการตั้งชื่อตามสภาพแวดล้อม ทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านแต่เดิม และเป็นการรักษาเอกลักษณ์ที่เรียกชื่อชุมชนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อบ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนในอดีต เรียกชื่ออย่างไรก็จะเรียกชื่ออย่างนั้น โดยการเล่าสืบทอดกันต่อมาในแต่ละรุ่นของลูกหลานที่ตั้งครัวเรือนในเขตชุมชนของตนเอง
ประวัติบ้านหนองมูล หมู่ที่ 4 ตำบลประตูป่า
ชื่อบ้านหนองมูล เดิมเป็นหนองน้ำกลางหมู่บ้านตามโฉนดเลขที่ 79396 เล่ม 794หน้า 96 อ.เมือง จ.ลำพูน จำนวนเนื้อที่ 3 งาน 50 ตารางวา ของนางขอด ใจพิจิตร เป็นคู่สมรสของนายคำ ใจพิจิตร ได้สืบทอดมาจากนายก้อน ใจพิจิตร ในเมื่อครั้งก่อนนั้นมีทางน้ำไหลออกสู่ท่าน้ำของนายทอน (สมัยก่อนมักเรียกผู้สูงอายุหรืออายุมากกว่าว่า “ปู่ทอน) ต่อมาใช้นามสกุล“พิงค์ทอน” ที่เป็นหนองน้ำนั้นเป็นที่ลุ่ม และท่าน้ำปู่ทอนนี้ ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของนายทองคำ ภิญโญจิตร อยู่สามแยกบ้านหนองมูล โดยที่ท่าน้ำไหลนี้ ชาวบ้านใช้เครื่องมือจับปลาที่ท่าน้ำว่า “ลี่” ต่อมานานเข้า ตรงกลางหนองน้ำก็มีโคลนพอกหนาสูงขึ้น เป็นรูปทรงกลมหนาๆ นูนๆ จึงเรียกว่า “หนองมูล” คำว่ามูลมีความหมายว่า มูลขึ้น เพิ่มมากขึ้น
อีกสันนิษฐานหนึ่ง “มูล” เป็นภาษาถิ่นไทยยอง หมายถึงรูปทรงกลมหรือวงกลมเรียกว่า “มูน” จึงเรียก“หนองมูน” จึงเปลี่ยนเป็น “หนองมูล” ได้อีกทางหนึ่ง
ประวัติบ้านสันใจยา หมู่ที่ 9 ตำบลประตูป่า
สันใจยา สมัยร้อยปีที่ผ่านมายังเป็นป่าดง มีต้นไม้ไผ่เป็นที่ราบสูง หรือที่ดอนกว่าที่อื่นต่อมาได้มีชาวบ้านซึ่งอพยพมาจากบ้านประตูป่า ได้มาจับจองที่ดินสำหรับการทำเพาะปลูก พืชผักสวนครัว และยาสูบพันธุ์พื้นเมือง สำหรับเอาไว้สูบและขาย ครอบครัวที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นครอบครัวแรกมีครอบครัวเดียว ซึ่งหัวหน้าครอบครัวมีชื่อว่า ใจยา เนื่องจากสถานที่แห่งนี้มีดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชผักต่างๆ ก็งอกงามดี ต่อมาได้มีชาวบ้านได้อพยพติดตามมาอยู่อีก 14 ครอบครัว ก็กลายเป็นหมู่บ้าน สำหรับครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ในครั้งนี้ มีพ่อน้อยแก้ว แม่หลวงจีน พ่อนวล แม่ปา ลุงฝั้น ป้าขันแก้ว พ่อเงิน แม่อุ้ยใส พ่อหลวงจ๋อม แม่หลวงทา พ่อหลวงแว่นพ่อหลวงจ้อย พ่ออุ้ยก๋อง พ่อใจ พ่อน้อยมุ แม่นาง แม่ดา แม่ออน แม่อุ้ยเตียม บ้านแต่ละหลังสมัยนั้นมุงด้วยหญ้าคาตามแบบชนบททั่วๆ ไป
สันใจยาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านประตูป่า และอย่างทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลำพูน สันใจยาขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 9 บ้านต้นแงะ ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน พลเมืองส่วนใหญ่พูดภาษายอง และเป็นศรัทธาวัดประตูป่าอยู่ 73 หลังคาเรือนประวัติบ้านหัวยาง
เนื่องด้วยในตัวเมืองถูกคุกคามจากไข้ทรพิษ ราษฎรจึงอพยพมาอยู่ตามที่ต่างๆ เช่นริมฝั่งแม่น้ำปิง บ้านประตูป่า บ้านหลุก บ้านบัว บ้านบาน(บ้านหัวยาง) ในปัจจุบัน ซึ่งทางหมู่บ้านบาน (บ้านหัวยาง) ได้ตั้งอยู่ฝั่งขวาของลำเหมืองไม้แดง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงมีเนื้อที่ประมาณ 1,135 ไร่ เนื้อที่ทำการเกษตร 830 ไร่ พ.ศ. 2348 หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว ราษฎรอาศัยอยู่ไม่มากนัก ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2548 มีประมาณ 287 ครอบครัว ชาย 386 คนหญิง 385 คน รวมประชากรประมาณ 771 คน ประชากรพูดภาษายองเกือบทั้งหมด จะมีก็แต่ผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านจัดสรรเท่านั้นที่พูดภาษาอื่นๆ ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรก็เริ่มก่อตั้งสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ ประมาณ 20 กว่าปีเท่านั้น ปัจจุบันนี้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านการปกครอง ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ปกครองหมู่บ้านก็ได้รับการแต่งตั้งจากทางการในเมืองเข้ามาก่อน ประมาณปี พ.ศ. 2437-2454 (เจ้าอินทยงยศโชติ) แบ่งแยกเขตการปกครองเมืองลำพูนออกเป็น 2 แขวง คือ แขวงในเวียงและนอกเวียง ประกอบด้วย แคว้น (ตำบล) คือตำบลประตูป่า บ้านหลุก บ้านหัวยาง ก็อยู่ฝั่งลำน้ำเหมืองไม้แดง ซึ่งตำบลประตูป่าอยู่ฝั่งซ้ายบ้านหัวยางอยู่ฝั่งขวา อยู่กับแคว้นบ้านหลุก ซึ่งมีอยู่ 10 หมู่บ้าน ซึ่งมีแคว่น (กำนัน) ปกครองอยู่
สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
ขนาดที่ตั้ง อาณาเขตติดต่อ
ชุมชนวัดประตูป่าเป็นชุมชนที่มีวัดประตูป่าเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจทางด้านศาสนา ด้านศิลปะประเพณีและวัฒนธรรม ชุมชนวัดประตูป่าประกอบด้วยหลายหมู่บ้านรวมกัน ดังนี้
1) หมู่บ้านที่อยู่ในตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน ได้แก่
- หมู่ที่ 4 หมู่บ้านประตูป่า
-. หมู่ที่ 4 หมู่บ้านหนองมูล
- หมู่ที่ 3 หมู่บ้านหนองกออ้อ
- หมู่ที่ 5 หมู่บ้านท่ากว้าง
- หมู่ที่ 5 หมู่บ้านสันปู่ลี้
- หมู่ที่ 9 หมู่บ้านสันใจยา
2) หมู่บ้านที่อยู่ในตำบลในตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ได้แก่
- หมู่ที่ 9 หมู่บ้านหัวยาง บ้านบาน
- หมู่ที่ 9 หมู่บ้านจัดสรรโครงการต่าง ๆ
ชุมชนวัดประตูป่า ตั้งอยู่ในตำบลประตูป่าและตำบลเหมืองง่า ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวจังหวัดลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 689 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ
ติดกับ เขตหมู่บ้านล่ามช้าง ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บ้านเกาะทราย บ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ทิศใต้
ติดกับ เขตหมู่บ้านต้นแงะ บ้านสันหัววัว ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ทิศตะวันออก
ติดกับ ทุ่งนาเขตหมู่บ้าน เหมืองง่า ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ทิศตะวันตก
ติดกับ เขตหมู่บ้านศรีสุพรรณ หมู่บ้านชัยชนะ หมู่บ้านล่ามช้าง ตำบลประตูป่า
อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน